ละครแพทย์ยอดนิยม MY AMBULANCE รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ผลงานซีรีส์แนว โรแมนติก แฟนตาซี ของค่ายนาดาวบางกอก ที่ฉายผ่าน One 31 และ LINE TV นำแสดงโดย “ใหม่-ดาวิกา” (ทานตะวัน) และ “ซันนี่” (หมอเป้ง)
ซีรีส์ MY AMBULANCE กลายเป็นกระแสไวรัลทางโซเชียล ซึ่งได้เห็น #รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ติดอันดับบ่อยครั้ง เฉพาะใน Line TV มียอดผู้ชมกว่า 63 ล้านวิว ภายในเดือนแรกที่ฉายช่วงกันยายน พ.ศ. 2562
เพื่อความสมจริงเกี่ยวกับเรื่องทางการแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาลและคลินิก ทำให้ในซีรีส์ MY AMBULANCE รักฉุดใจนายฉุกเฉิน มีการพูดศัพท์แพทย์บ่อยครั้ง ในเฟซบุ๊กมีการโพส #ศัพท์แพทย์ฉุดฉุด ซึ่งเป็นศัพท์แพทย์ที่มีการพูดถึงในเรื่องบ่อยครั้ง หลังได้ดู ก็ทำให้ผู้ชมไม่น้อยที่สนใจศัพท์เหล่านี้ จนบางคนอยากศึกษาต่อเป็นหมอและพยาบาลกัน
มาดูว่าศัพท์ที่ใช้ในสถานพยาบาลและอ้างอิงในเรื่อง รักฉุดใจนายฉุกเฉิน มีอะไรบ้างในตอนแรกๆ เรียงตามลำดับ EP ที่ฉาย
ศัพท์แพทย์ฉุดฉุด (Medical Term)
ตอนที่ 1
Extern (นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6)
นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 มักจะถูกเรียกว่า “หมอ” เพราะต้องลงมือปฏิบัติกับคนไข้จริง และทำหน้าที่ให้ได้เหมือนหมอทุกอย่าง แต่ Extern จะไม่สามารถสั่งการเองได้โดยตรง จะต้องอยู่ในความควบคุมของอาจารย์แพทย์ แพทย์ประจำบ้าน หรือแพทย์ใช้ทุนอย่างเข้มงวด
Pulse (ชีพจร)
อัตราการเต้นของหัวใจ ปกติคนส่วนใหญ่จะมีชีพจรเต้น 60-100 ครั้ง/นาที
ถ้ามากกว่านี้ถือว่าหัวใจกำลังเต้นเร็วผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คความผิดปกติของร่างกาย
Resident (แพทย์ที่กำลังเรียนต่อเฉพาะทาง (แพทย์ประจำบ้าน))
กว่าจะเป็น แพทย์ประจำบ้าน หรือ Resident จะต้องผ่านการเรียนต่อเนื่องหลายปี
- “แพทยศาสตร์บัณฑิต” ในหลักสูตรการเรียน 6 ปี
- เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องไปเป็น “แพทย์เพิ่มพูนทักษะ (Internship)” อีก 1 ปี
- ต่อจากนั้นเป็น “แพทย์ใช้ทุน” อีก 2 ปี
หลังจากนั้น เมื่อหมอมีความสนใจในสาขาเฉพาะทาง สามารถเลือกสมัครเรียนต่อเฉพาะทางได้ คือ “แพทย์ประจำบ้าน หรือ Resident” นั่นเอง ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยภายใต้การควบคุมของอาจารย์แพทย์แล้ว Resident ยังต้องคอยเป็นที่ปรึกษาและรับผิดชอบดูแล เหล่านักศึกษาแพทย์อีกด้วย
ตอนที่ 2
Post Traumatic Stress Disorder (PTSD)
ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง เป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล เป็นความผิดปกติทางจิตใจภายหลังประสบกับเหตุการณ์รุนแรง
Tension Pneumothorax
ภาวะลมรั่วในปอดฉับพลัน และปริมาณมากจนกดเบียดหลอดเลือดดำใหญ่ ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง มีความจำเป็นต้องใช้เข็มขนาดใหญ่เจาะระบายลมออก และใส่สายระบายทรวงอก เพื่อให้ลมได้ระบายออกไป
Arrest
ภาวะหัวใจหยุดเต้น คือ ภาวะซึ่งหัวใจทำงานผิดปกติ จนกระทั่งไม่มีการบีบตัวหรือหยุดเต้นโดยทันที ทำให้ไม่มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงร่างกายส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะสมองทำให้ผู้ป่วยมีอาการหมดสติ ซึ่งหากพบผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรรีบทำการกดหน้าอกช่วยฟื้นคืนชีพทันที
ตอนที่ 3
Dyspepsia (ภาวะอาการดีสเปปเซีย)
ภาวะภาวะอาการดีสเปปเซีย จะมีอาการปวดท้องหรือไม่สบายท้อง ที่สันนิษฐานว่าน่าจะมีสาเหตุจากความผิดปกติของกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น จะมีอาการอึดอัด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ บริเวณลิ้นปี่หรือเหนือสะดือ หากมีอาการควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคต่อไป
Case Advance
คนไข้ที่ต้องได้รับการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินขั้นสูง เคสผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะคุกคามต่อชีวิต ต้องได้รับการดูแลรักษาทันที หรืออย่างเร่งด่วนที่สุด ทีมปฏิบัติการแพทย์ขั้นสูงต้องไปถึงผู้ป่วยภายใน 8 นาทีหลังเกิดเหตุ โดยใช้สัญญาณแสงวับวาบและเสียงไซเรน
Case Basic
คนไข้ที่ต้องได้รับการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินขั้นพื้นฐาน เคสผู้ป่วยที่ประสบภาวะที่ต้องได้รับการช่วยเหลือโดยเร็ว แต่ยังสามารถรอได้ ทีมปฏิบัติการณ์แพทย์ขั้นต้นควรไปถึงผู้ป่วยภายใน 15 นาที หลังเกิดเหตุ โดยใช้สัญญาณแสงวับวาบและเสียงไซเรน
Ruptured Abdominal Aortic Aneurysm
ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้องแตก เป็นอาการของโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง พบว่าส่วนมากคนไข้จะไม่มีอาการ แต่มักมาพบแพทย์ด้วยเรื่องคลำเจอก้อนเต้นได้ในช่องท้อง ในผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดท้อง ปวดหลัง หรือปวดท้องร้าวไปถึงหลังร่วมด้วย กรณีนี้อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าหลอดเลือดนี้กำลังจะแตก หากไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลให้หลอดเลือดแตกและเสียชีวิตในที่สุด
ตอนที่ 4
Heart Rate
อัตราการเต้นของหัวใจ ปกติอัตราการเต้นจะอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที ถ้าสูงกว่า 100 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป ถือว่าหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การเคลื่อนไหวของร่างกาย เล่นกีฬา ความตื่นเต้น ความเครียด หรือความวิตกกังวล
Round Ward
การตรวจเยี่ยมคนไข้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือห้องฉุกเฉิน แพทย์จะเดินไปที่เตียงผู้ป่วยทุกเตียงเพื่อตรวจและสอบถามอาการของผู้ป่วย พร้อมทั้งสั่งการรักษาตามอาการที่เปลี่ยนแปลง หรือสั่งให้กลับบ้านหากอาการทุเลาแล้ว
Admit
การรักษาแบบผู้ป่วยใน ต้องนอนค้างในโรงพยาบาล
ตอนที่ 5
5th Intercostal space anterior to midaxillary line
ช่องซี่โครงที่ 5 บริเวณแนวหน้าต่อรักแร้ บริเวณที่ผนังทรวงอกบาง ช่องระหว่างกระดูกซี่โครงกว้าง และอยู่ห่างจากอวัยวะที่สำคัญ เป็นตำแหน่งที่ใช้ในการเจาะระบายลมในภาวะ Tension pneumothorax
MI (Myocardial infarction)
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจตาย จากการที่เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นไม่เพียงพอ
ตอนที่ 6
Load IV
การให้สารน้ำปริมาณมากทางหลอดเลือดดำอย่างรวดเร็ว ซึ่งดูแลโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสารน้ำโดยเฉพาะ
Maintain Airways
ดูแลระบบทางเดินหายใจ เป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่สำคัญในการช่วยการหายใจของผู้ป่วย เพราะถ้าเปิดทางเดินหายใจได้ช้าหรือช่วยหายใจไม่ได้ ทำให้สมองขาดออกซิเจน มีผลเสียต่อสมองแบบถาวร หรือทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
Monitor
การติดตามเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วยที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ
สำหรับตอนหลังๆ ดูได้ที่เฟซบุ๊ค MY AMBULANCE รักฉุดใจนายฉุกเฉิน